วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แนะนำร้านผัดหมี่ที่ขึ้นชื่อในเมืองโคราช

1.      ร้านเจ๊น้อยกระโทก
ร้านตั้งอยู่ที่ ต.หนองไผ่ล้อม ตรงข้ามกับโรงพยาบาลค่ายสุรนารี
เวลาเปิดบริการ 8.00 - 22.00 น.
สอบถามรายละเอียดได้ที่ 044-055735

ผัดหมี่กระโทกโคราช ผัดหมี่รสดั้งเดิมขึ้นชื่อเมืองโคราช หนึ่งในร้านอาหารที่มีชื่อเสียงของเมืองโคราช ที่มีลูกค้าประจำมากมายทั้งชาวโคราชและนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาไม่ขาดสาย ได้รับรางวัลมากมายจากหลายที่ ยืนยันถึงรสชาติอาหารได้เป็นอย่างดี

เจ๊น้อยกระโทก เชี่ยวชาญอาหารท้องถิ่น ผัดหมี่โคราชหรือหมี่กระโทกต้นตำรับ ซึ่งผัดหมี่โคราชนั้นเป็นอาหารท้องถิ่น ซึ่งเส้นหมี่ที่ร้านเจ๊น้อยกระโทก มีความเหนียว นุ่ม ซึ่งทำให้สามารถช่วยเพิ่มรสชาติความอร่อยของผัดหมี่โคราชร้านเจ๊น้อยกระโทกได้เป็นอย่างดี

2.      ร้านเจ๊เขียวผัดหมี่กระโทก
ร้านอยู่ที่สี่แยกตลาดสดโชคชัย ถนน ทล. 2071 ห่างจากสี่แยก ประมาณ 15 เมตร

ร้านเจ๊เขียวเป็นร้านผัดหมี่กระโทกที่เก่าแก่ประจำจังหวัด เปิดมาประมาณ40 ปีแล้ว ผัดหมี่กระโทก คือ ผัดหมี่โคราช ที่ อ.โชคชัย เพราะเส้นหมี่ทำจากหมู่บ้านกระโทก หมี่โคราชแต่ละท้องที่ จะแตกต่างกันที่เครื่องปรุง แต่ก็ยังคงความเหนียว นุ่ม น่ารับประทาน อันเป็นเอกลักษณ์ของหมี่โคราช ทำให้ร้านเจ๊เขียว มีชื่อเสียงในด้านความอร่อยของผัดหมี่โคราช

3.      ร้านแมนโร่
ที่ตั้ง 117 สรรพสิทธิ์ ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา 30000
เปิดทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00
โทร. 044-254266

ร้านแมนโร่ ถือได้ว่าเป็นร้านผัดหมี่โคราชเก่าแก่ร้านหนึ่งของเมืองโคราช ผัดขายมานานกว่า 30ปี ตอนนี้เป็นทายาทรุ่นที่ 2ดำเนินกิจการ แต่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรุ่นแรกอยู่ ซึ่งรสชาติของผัดหมี่โคราชร้านนี้ก็ยังคงความอร่อย ของเส้นหมี่โคราชที่เหนี่ยว นุ่น น่ารับประทาน
 

การทำผัดหมี่โคราช

เครื่องปรุง
1.      หมี่โคราช 200 กรัม
2.      กระเทียมกลีบใหญ่ 3 กลีบ
3.      หอมแดง 2 หัว
4.      เนื้อหมู 100 กรัม
5.      หมูสับ 100 กรัม
6.      เต้าเจี้ยว 1 ช้อนโต๊ะ
7.      น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
8.      น้ำตาลปี๊บ 2 ช้อนโต๊ะ
9.      ซีอิ้วดำ 1 ช้อนโต๊ะ
10.  พริกป่น 1 ช้อนโต๊ะ
11.  น้ำมะขามเปียกข้นๆ 3 ช้อนโต๊ะ
12.  น้ำสะอาด 1/4 ถ้วยตวง
13.  น้ำมันพืช 3 ช้อนโต๊ะ
14.  ต้นหอม ถั่วงอก

วิธีทำผัดหมี่โคราช



1.     ทำน้ำแกง ตั้งกระทะใส่น้ำมันลงไป เจียวหอม และกระเทียมให้เหลือง ใส่เนื้อไก่ หรือเนื้อหมูลงไป ผัดพอสุก ใส่พริกป่นตามชอบ ใส่น้ำตาล เต้าเจี้ยว ซีอิ้วดำ แล้วใส่น้ำลงไป ประมาณว่า พอท่วมเส้นหมี่ ชิมรสเปรี้ยวหวานตามใจชอบ ตั้งทิ้งไว้ให้เดือด


2. หลังจากน้ำเดือดแล้ว ใส่เส้นหมี่ลงไปในกระทะ ผัดไปเรื่อยๆ จนน้ำแห้ง เส้นหมี่จะนุ่มพอดี หากเส้นหมี่ยังไม่นิ่มพอ ให้เติมน้ำลงไปทีละน้อยๆ


3.      พอหมี่เริ่มนุ่มจนได้ที่ พลิกกลับไป กลับมา แล้วใส่ถั่วงอก ใบกุ่ยช่ายลงไป ผัดจนสุก


4.     ตักใส่จาน บีบมะนาว เสิร์ฟได้ ถ้าชอบรสจัด ก็เติมน้ำตาล น้ำปลา มะนาว พริกป่นเพิ่มได้ หรือจะใส่ถั่วงอกสด กุยช่ายสดก็ได้
 
 

ความโดดเด่นของเส้นหมี่โคราช



“ หมี่โคราช คนส่วนใหญ่ชอบกินเพราะมันมีความโดดเด่นเฉพาะตัวของมันเอง ก็คือ เส้นหมี่โคราชนี้ มันจะมีลักษณะที่เหนียว นุ่ม ทำให้น่ารับประทาน และอร่อยถูกใจคนทาน และเส้นหมี่โคราชทำมาจากข้าวเก่า แต่ถ้าเอาข้าวใหม่มาทำเส้นมันจะไม่สวย มันจะติดกัน มันจะเหนียวเกินไป เส้นหมี่โคราชนี้จะเป็นเส้นแบนๆ สีขาว ขนาดมันจะเล็กและยาว เหมือนกับเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก แต่เส้นหมี่โคราชมันจะเหนี่ยว นุ่ม น่ารับประทานกว่า ”

สัมภาษณ์ คุณพรทิพย์  เกวียนโคกกรวด วันที่ 2 พฤษภาคม 2554.

 
เส้นหมี่โคราชจะมีลักษณะเส้นที่มีความเหนียว นุ่ม น่ารับประทาน ซึ่งมีความแตกต่างไปจากเส้นหมี่ทั่วไป เพราะเส้นหมี่มักใช้ข้าวเก่า หากเป็นข้าวใหม่เส้นหมี่จะไม่สวย มักติดกัน เพราะข้าวเหนียวเกินไป เส้นหมี่โคราชมีลักษณะเป็นเส้นแบนสีขาว เส้นมีขนาดเล็กและยาว คล้ายเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก แต่มีความแตกต่างจากเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก คือ เส้นหมี่โคราชจะมีความเหนียว นุ่ม น่ารับประทานมากกว่า
เรียบเรียงโดย นวพรรษ  ทาเงิน

การทำเส้นหมี่โคราช

ภาชนะและอุปกรณ์ในการทำเส้นหมี่
1.      เตา
2.      กระทะ
3.     ปากหม้อทำจากสังกะสีแผ่น ขดให้เป็นวงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับความยาวของเส้นหมี่ ในอดีตปากหม้อจะใช้หม้อดินขนาดใหญ่ตัดเอาก้นออก แล้ววางบนกระทะ ขนาดของเตากระทะและปากหม้อจะต้องพอดีกัน
4.      ผ้าขึงปากหม้อ (มักใช้ผ้าขาว)
5.      ขันอลูมิเนียม
6.      โม่
7.      ไม้แซะแผ่นหมี่
8.      แผงไม้ไผ่สาน
9.      มีดซอยหมี่หรือ เครื่องตัดหมี่
10.  ฟืนสำหรับเป็นเชื้อเพลิง

วิธีทำเส้นหมี่โคราช
1.      แช่ข้าวเจ้า 1 คืน แล้วนำไปโม่ ตั้งกระทะใส่น้ำ เอาปากหม้อขึงผ้า แล้วตั้งในกระทะ เจาะผ้าที่ริมปากหม้อเล็กน้อย เพื่อให้ไอร้อนขึ้นมาสะดวก
2.     ทำแผ่นหมี่ โดยการกวาด (ภาษาโคราชเรียกกวาดหมี่) ด้วยการละเลงแป้งลงบนผ้าที่ขึงปากหม้อ ขณะที่น้ำเดือด กวาดแป้งให้ทั่ว ด้วยก้นขันเอาฝาปิด ทิ้งไว้สักครู่ เปิดฝาออก ใช้ไม้แซะแผ่นหมี่ จากผ้าขึงปากหม้อ แล้วยกแผ่นหมี่วางบนแผงตากหมี่
3.     ตากแผ่นหมี่พอหมาดๆ แล้ววางแผ่นหมี่ ซ้อนกัน ทาน้ำมัน เพื่อไม่ให้แผ่นหมี่ติดกัน
ทิ้งไว้ประมาณ 1.5-2ชั่วโมง จึงนำมาหั่น เป็นเส้นหมี่ เอาเส้นหมี่มาวางเรียงเป็นกำๆ บนแผง แล้วจึงตากแตดให้แห้งสนิท



ประวัติความเป็นมาของผัดหมี่โคราช

ต้องอธิบายก่อนว่า ผัดหมี่โคราช นั้นเป็นอาหารท้องถิ่น หน้าตาคล้ายกับผัดไทยแต่มีความแตกต่างไปจากผัดไทย ในขณะที่ผัดไทยใช้ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กในการผัด ส่วนผัดหมี่โคราชจะใช้เส้นเฉพาะทางของตัวเอง ก็คือ เส้นหมี่โคราช ความแตกต่างถัดมา คือ ผัดหมี่จะไม่ใส่ไข่ และใส่เครื่องน้อยกว่าผัดไทยอยู่พอสมควร เช่น ผัดหมี่จะไม่ใส่กุ้งแห้ง ถั่ว และเต้าหู้
ผัดหมี่โคราช เป็นหนึ่งในอาหารพื้นบ้านของเมืองย่าโม ที่หาทานได้ง่ายทั่วไป เพราะในสมัยก่อนเมืองโคราชมีการปลูกข้าวเจ้ามาก จึงมีการดัดแปลงข้าวมาทำเป็นเส้นหมี่ และเพื่อเป็นการถนอมอาหารอีกรูปหนึ่งแบบด้วย จากการนำเส้นหมี่ไปตากแห้ง แล้วเก็บไว้ทานในมื้อต่อๆไป
หมี่เป็นอาหารมื้อกลางวันในชีวิตประจำวันของคนโคราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานบุญ เช่น งานโกนจุก งานบวชนาค งานแต่งงาน หรืองานสมโภชอื่นๆ ที่พอนึกหาอาหารอะไรไม่ออกเพราะทำยาก ก็มักจะนึกถึง คั่วหมี่หรือ ผัดหมี่” เพราะทำง่าย และเมื่อมีงานบุญอย่างนี้ก็มักจะมีเครื่องปรุงสำหรับ คั่วหมี่ได้อยู่แล้ว เพิ่มแค่เพียงหาเส้นหมี่โคราชมาไว้ เพราะเครื่องปรุงหาได้ในงาน
ปัจจุบัน อาหารจานนี้ ก็ยังเป็นที่นิยมรับประทานกันอยู่อย่างแพร่หลายในจังหวัดนครราชสีมา เพราะคนส่วนใหญ่นิยมรับประทานผัดหมี่โคราช กับ ส้มตำ ซึ่งถือว่าเป็นอาหารที่รับประทานเข้ากันได้ดีทีเดียว ส้มตำเผ็ดๆ กับผัดหมี่ร้อนๆ รสชาติอร่อยถูกใจคนโคราช ถ้าใครได้ลองรับประทานต้องติดใจในรสชาติของหมี่โคราชที่เส้นเหนียวนุ่ม น่ารับประทาน